ประเด็นร้อน
มติ ครม. ย้ายด่วนปลัด ยธ.แค่จะให้ช่วยปฏิรูปตำรวจ
โดย ACT โพสเมื่อ May 26,2017
- -สำนักข่าว บางกอกทูเดย์ วันที่ 26/05/60 - -
กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติโยกย้าย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับได้รับโอนนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมแทน
หลังมติ ครม. ออกมา บรรยากาศที่บริเวณชั้น 8 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งห้อง ทำงานของนายชาญเชาวน์ ปรากฏว่า ทีมงานเจ้าหน้าที่ของนายชาญเชาวน์ ได้เริ่มทยอยกันเก็บของเอกสารราชการต่างๆ พร้อมเคลียร์พื้นที่บริเวณหน้าห้องทำงาน เนื่องจากนายชาญเชาวน์อยู่ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน อาชญกรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 27 พ.ค.นี้
ทางผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปทางโทรศัพท์เพื่อขอสัมภาษณ์นายชาญเชาวน์ ถึงประเด็นดังกล่าว โดยนายชาญเชาวน์ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า ขอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้โยกย้ายนายชาญเชาวน์ ว่า การโยกย้ายครั้งนี้ไม่ใช่เพราะนายชาญเชาวน์ มีความผิด และไม่ใช่การดำเนินการทาง วินัยใดๆ แต่รัฐบาลมีภารกิจที่ต้องให้นายชาญเชาวน์ดำเนินการ คือ งานการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ จึงโยกย้ายนายชาญเชาวน์ ให้มารองรับงานดังกล่าวอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องตามมติ ครม.เกี่ยวกับการลดระยะเวลาการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และการตรวจสอบการทุจริตที่ต้องเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็ว จึงต้องการให้ใครสักคนมาเป็นเหมือนหัวหน้าทีมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคิดว่านายชาญเชาวน์มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งให้นายชาญเชาวน์ทราบก่อนจะมีมติ ครม. ออกมา
ส่วนที่สงสัยกันว่าการโยกย้ายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ กระแสข่าวที่ว่ากระทรวงยุติธรรมจะเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 2,000 คน ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยว และส่วนตัวไม่เคยรู้ว่ามีเรื่องนี้อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากนายชาญเชาวน์แล้ว ขณะนี้กำลังดูอยู่ว่าจะดึงใครมาร่วมงานเพิ่มด้วย โดยในเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ อาจต้องดึงบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก่อนจะดึงใครก็ต้องถามเจ้าตัว เผื่อเขาไม่เห็นด้วย
ขณะที่การโยกย้ายครั้งนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นเพราะนายชาญเชาวน์มีประเด็นจากกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินในคดีการออกคำสั่งโยกย้าย พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ จากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดี ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง เพราะกรณีนี้สุดท้ายก็รอลงอาญา ทุกอย่างก็จบ นายชาญเชาวน์ ไม่ได้มีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนนำมาเป็นเหตุให้ต้องถูกโยกย้าย
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายวิษณุกล่าวว่า ในการปฏิรูปตำรวจ ตนเป็นหนึ่งใน 20 กว่าคนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาเรื่องนี้ โดยขั้นตอนแรก จะต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจให้ไปทำต่อ โดยนายกฯอาจให้แนวคิด แต่ไม่ใช่คำสั่ง เพราะคณะกรรมการนี้ต้องคิดเอง
ส่วนว่ารัฐบาลจะเสนอโมเดลเพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของ สปท. หรือไม่นั้น รองนายกฯกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้สอบถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้
นายวิษณุ ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่ว่าดูเหมือนนายกฯ จะมีแนวคิดให้ตำรวจในแต่ละจังหวัดขึ้นตรงกับจังหวัด นั้นๆ ว่า เป็นการโยนหินถามทาง แต่ไม่ใช่โมเดลภาคบังคับ โดยนายกฯ ปรารภว่า ตำรวจได้อยู่ในหลายสังกัด แล้ว เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และตอนนี้มีแนวคิดจะเอากลับเข้ากระทรวงยุติธรรมอีก นายกฯ จึงลองเสนอแนวทางอื่น ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้คิดว่าให้อยู่ในสังกัดใดจึงจะดีที่สุด
ทั้งนี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ได้กล่าว ว่าตนได้มีการพูดคุยกับนายชาญเชาวน์ก่อนที่นาย ชาญเชาวน์ จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสห ประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญกรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่า ทางกระทรวงยุติธรรมกับสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยกันมาตลอด เรื่องของงานที่สำนักนายก รัฐมนตรีและกระทรวงยุติธรรมต้องทำร่วมกัน ซึ่งมีอย่างน้อย 4 เรื่องที่ต้องทำร่วมกัน
คือ 1. กระบวนการยุติธรรม 2. การปฏิรูปกฎหมาย 3. การปฏิรูปตำรวจ และ 4. การขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยกันมาตลอดว่าสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงยุติธรรมจะทำร่วมกันอย่างไร โดยเห็นตรงกันว่าทางสำนักนายกรัฐมนตรีอยากได้นาย ชาญเชาวน์ ไปช่วยงานเหล่านี้ อีกทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรีอยากกระทรวงยุติธรรมยกระดับเรื่องการขับเคลื่อนงานด้านการอำนวยความยุติธรรม จงนำมาซึ่งการสับเปลี่ยนในครั้งนี้ โดยขอย้ำว่าตนได้มีการพูดคุยกับนายชาญเชาวน์มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนายชาญเชาวน์ ก็ยินดี และเข้าอกเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนกรณีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างชั่วลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมกว่า 2,000 รายนั้น เรื่องนี้เป็นปัญหาของการบริหารและสามารถแก้ไขได้ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายนายชาญเชาวน์ แต่อย่างใด แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรจึงจะขับเคลื่อน งานของกระทรวงยุติธรรมได้ และจะทำอย่างไรให้งานปฏิรูปมันเชื่อมต่อกับสำนักนายกรัฐมนตรีสามารถ ขับเคลื่อนได้
"การโยกย้ายนายชาญเชาวน์ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในส่วนที่ต่างๆ ที่ล่าช้า แต่ตนได้มีการพูดคุยกันเป็นระยะ และขอเรียนว่านายชาญเชาวน์ เป็นคน ที่มีความรู้และจะทำงานร่วมกันต่อไป"